วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์



ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) จิตแพทย์ชาวเวียนนาได้ศึกษาวิเคราะห์จิตของมนุษย์ และอธิบายว่า พลังงานจิตทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ มี 3 ลักษณะ คือ
           1. จิตสำนึกหรือจิตรู้สำนึก (Conscious mind) หมายถึงภาวะจิตที่รู้ตัวอยู่ได้แก่ การแสดงพฤติกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับหลักแห่งความเป็นจริง
           2. จิตกึ่งสำนึก (Subconscious mind) หมายถึงภาวะจิตที่ระลึกถึงได้ 
          รองศาสตราจารย์กลมรัตน์ หล้าสุวงษ์ (2528 : 35)ได้กล่าวถึง Subconscious mind  ว่าหมายถึงส่วนของจิตใจที่มิได้แสดงออกเป็นพฤติกรรม ในขณะนั้น แต่ เป็นส่วนที่รู้ตัว สามารถดึงออกมใช้ได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เช่น ซันนี่มีน้องสาวคือจินนี่ซึ่งกำลังตกหลุมรักซันแต่จินนี่เกรงว่ามารดาจะทราบความจริงจึงบอกพี่สาวมิให้เล่าให้มารดาฟัง ซันนี่เก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ มิได้แพร่งพรายให้ผู้ใดทราบโดยเฉพาะมารดาแต่ในขณะเดียวกันก็ทราบอยู่ตลอดเวลาว่าจินนี่รักซันถ้าเขาต้องการเปิดเผย เขาก็จะบอกได้ทันที ลักขณา สริวัฒน์ (2530 : 9) กล่าวถึง Subconscious mind ว่าผลมันเกิดจากการขัดแย้งกันระหว่างพฤติกรรมภายใต้อิทธิพลจิตรู้สำนึกกับอิทธิพลของจิตใต้สำนึกย่อมก่อให้เกิดการหลอกลวงตัวเองขึ้นภายในบุคคล          
          3. จิตไร้สำนึกหรือจิตใต้สำนึก (Unconscious mind) หมายถึงภาวะจิตที่ไม่อยู่ในภาวะที่รู้ตัวระลึกถึงไม่ได้ 
         กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์ (2524 : 121) กล่าวว่า จิตไร้สำนึกเป็นสิ่งที่ฝังลึกอยู่ภายในจิตใจมีการเก็บกด(Repression) เอาไว้อาจเป็นเพราะถูกบังคับหรือไม่สามารถแสดงอาการโต้ตอบได้ในขณะนั้นในที่สุดก็จะฝังแน่นเข้าไปจนเจ้าตัวลืมไปชั่วขณะจะแสดงออกมาในลักษณะการพลั้งเผลอ เช่น พลั้งปากเอ่ยชื่อ คนรักเก่าต่อหน้าคนรักใหม่ เป็นต้น
        คณาจารย์ภาควิชาจิตวิทยา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (2530 : 16) กล่าวว่าสิ่งที่มีอิทธิพลจูงใจพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของคนเรามากที่สุดก็คือส่วนที่เป็นจิตใต้สำนึกและสิ่งที่คนเรามักจะเก็บกดลงไปที่จิตใต้สำนึก ก็คือความต้องการก้าวร้าวกับความต้องการทางเพศซึ่งจะมีแรงผลักดัน
นอกจากนี้ ฟรอยด์ ยังได้ศึกษาถึงโครงสร้างทางจิตพบว่าโครงสร้างทางจิตประกอบด้วย
1. อิด (Id)                    
2. อีโก้ (Ego)                     
3. ซุปเปอร์อีโก้ (Superego)             
    1. อิด (Id)  หมายถึงตัณหาหรือความต้องการพื้นฐานของมนุษย์เป็นสิ่งที่ยังไม่ได้ขัดเกลา ซึ่งทำให้ มนุษย์ทำทุกอย่างเพื่อความพึงพอใจของตนเองหรือทำตามหลักของความพอใจ (Pleasure principle)
เปรียบเหมือนสันดานดิบของมนุษย์ ซึ่งแบ่งออกเป็นสัญชาติญาณแห่งการมีชีวิต (Life instinct) เช่น ความต้องการอาหาร ความต้องการทางเพศ ความต้องการหลีกหนีจากอันตราย กับสัญชาติญาณแห่ง ความตาย (Death instinct) เช่น ความก้าวร้าวหรือการทำอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น เป็นต้น บุคคลจะแสดงพฤติกรรมตามความพอใจของเขาเป็นใหญ่ ไม่คำนึงถึงค่านิยมของสังคมและความพอใจของ บุคคลอื่นจึงมักเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามครรลองของมาตรฐานในสังคมบุคคลที่มีบุคลิกภาพเช่นนี้ มักได้รับการประณามว่ามีบุคลิกภาพไม่ดีหรือไม่เหมาะสม                  
    2. อีโก้ (Ego) หมายถึง ส่วนที่ควบคุมพฤติกรรมที่เกิดจากความต้องการของ Id โดยอาศัยกฎเกณฑ์ ทางสังคมและหลักแห่งความจริง (Reality principle) มาช่วยในการตัดสินใจไม่ใช่แสดงออกตามความพอใจของตนแต่เพียงอย่างเดียวแต่ต้องคิดแสดงออกอย่างมีเหตุผลด้วยนั่นคือบุคคลจะแสดงพฤติกรรม โดยมีเหตุและผลที่เหมาะสมกับกาลเทศะในสังคมจึงเป็นบุคลิกภาพที่ได้รับการยอมรับมากในสังคมในคนปรกติที่สามารถปรับตัวอยู่ได้ในสังคมอย่างมีความสุข ฟรอยด์เชื่อว่าเป็นเพราะมีโครงสร้างส่วนนี้แข็งแรง            
    3. ซุปเปอร์อีโก้ (Superego) หมายถึงมโนธรรมหรือจิตส่วนที่ได้รับการพัฒนาจากประสบการณ์การอบรมสั่งสอนโดยอาศัยหลักของศีลธรรมจรรยาขนบธรรมเนียมประเพณีและค่านิยมต่างๆในสังคมนั้น Superego จะเป็นตัวบังคับและควบคุมความคิดให้แสดงออกในลักษณะที่เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม โดยยึดหลักค่านิยมของสังคม (Value principle)ที่ตัดสินว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ดีในสังคมกล่าวคือบุคคลจะแสดงพฤติกรรมตามขอบเขตที่สังคมวางไว้แต่บางครั้งอาจไม่เหมาะสม เช่น เมื่อถูกยุงกัดเต็มแขน-ขาก็ไม่ยอมตบยุง เพราะกลัวบาปหรือสงสารคนขอทานให้เงินเขาไปจนหมดในขณะที่ตนเองหิวข้าวไม่มีเงินจะซื้ออาหารกินก็ยอมทนหิว เป็นต้น         
           กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์ (2524 : 122 - 123) กล่าวว่าใครก็ตามที่มีบุคลิกภาพเช่นนี้มักได้รับการยกย่อง ทั้งนี้เพราะบางครั้งพฤติกรรมที่แสดงออกนั้นอาจเกิดความไม่พอใจในตนเองแต่เพื่อต้องการให้เป็นที่ ยอมรับในสังคม ดังนั้นแม้เขาแสดงพฤติกรรมบางอย่างที่ขัดต่อค่านิยมของสังคมเขาจะเกิดความรู้สึกผิด (Guilt feeling or Guilty) ทันทีถ้าไม่มีการระบายออกเก็บกดไว้มากๆอาจระเบิดออกมากลายเป็นโรคผิดปกติทางจิตได้   
          ฟรอยด์ กล่าวว่าในบุคคลทั่วไปมักมีโครงสร้างทั้ง 3 ส่วนนี้แต่ส่วนที่แข็งแรงที่สุดมักเป็นอีโก้ซึ่งทำหน้าที่คอยประนีประนอมระหว่างอิดและซุปเปอร์อีโก้ให้แสดงออกตามความเหมาะสมของสถานการณ์ในขณะนั้น เช่น คอยกดอิดมิให้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมาเมื่อยังไม่ถึงเวลาหรือคอยดึงซุปเปอร์อีโก้ไว้มิให้แสดงพฤติกรรมที่ดีงามจนเกินไปจนตนเองเดือดร้อน ถ้าคนที่มีจิตผิดปกติ เช่น เป็นโรคจิต โรคประสาท คือคนที่อีโก้แตก (Break down) ไม่สามารถคุมอิดและซุปเปอร์อีโก้ไว้ได้ มักจะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับกาลเทศะกับเหตุผล เช่น เกิดอาการคุ้มดีคุ้มร้ายคุ้มดีคือส่วนของซุปเปอร์อีโก้แสดงออกมาคุ้มร้ายคือส่วนของอิดแสดงออกมา ฯลฯ                     
           ดร. อารี รังสินันท์ (2530 : 15 - 16) กล่าวว่าโครงสร้างจิต 3 ระบบนี้มีส่วนสัมพันธ์กันถ้าทำงาน สัมพันธ์กันดีการแสดงออกหรือบุคลิกภาพก็เหมาะสมกับตนแต่ถ้าโครงสร้างทั้ง 3 ระบบ ทำหน้าที่ขัดแย้งกันบุคคลก็จะมีพฤติกรรมหรือบุคลิกภาพที่ไม่ราบรื่นปกติหรือไม่เหมาะสมแนวความคิดกลุ่มนี้เน้น จิตไร้สำนึก (Unconscious mind) จิตไร้สำนึกนี้จะ รวบรวมความคิด ความต้องการ และประสบการณ์ที่ผู้เป็นเจ้าของจิตไม่ต้องการจะจดจำจึงเก็บกดความรู้สึกต่างๆเหล่านี้ไว้อยู่ในจิตส่วนนี้และหากความคิด ความต้องการหรือเกิดพฤติกรรมบางอย่างโดยไม่รู้ตัว          
           อนึ่ง ประสบการณ์ในชีวิตวัยเด็กโดยเฉพาะช่วงแรกเกิดถึง 5 ขวบที่เกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูที่ได้รับจะฝังแน่นอยู่ในจิตไร้สำนึกและอาจจะแสดงออกเมื่อถูกกระตุ้นโดยเฉพาะในวัยผู้ใหญ่                
          ฟรอยด์ บอกว่าจิตไร้สำนึกเป็นสาเหตุให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมและพฤติกรรมที่ฝังแน่นในอดีต เป็นเหตุให้แสดงพฤติกรรมออกมาในปัจจุบันและอนาคต อนึ่งพฤติกรรมทั้งหลายที่แสดงออกมานั้น ท้ายที่สุดก็เพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศ (Sexual need) นั่นเอง
           ฟรอยด์ เน้นประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็กมากโดยเฉพาะในช่วงชีวิตตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 ขวบ ประสบการณ์ต่างๆที่เด็กได้รับในช่วงนี้โดยเฉพาะสิ่งที่ประทับใจวิธีการอบรมเลี้ยงดูมักจะฝังแน่นอยู่ในจิตไร้สำนึกและจะแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมในช่วงชีวิตที่เป็นผู้ใหญ่ต่อมาซึ่งค้านกับความเห็นของนัก จิตวิทยากลุ่มอื่นหรือนักการศึกษาที่เชื่อว่าไม่มีผู้ใดจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้ในช่วงชีวิตตั้งแต่ 5 ขวบลงไปจนถึงแรกเกิดได้แต่ฟรอยด์บอกว่า สิ่งเหล่านี้มิได้หายไปไหนแต่กลับฝังลึกลงไปในส่วนของจิตที่เรียกว่า จิตไร้สำนึก (กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์. 2528 : 36)

พัฒนาการของมนุษย์ 5 ขั้น ของฟรอยด์
            ผ.ศ. ดร. อารี รังสินันท์ (2530: 15 - 16)    ได้กล่าวถึงการแบ่งขั้นพัฒนาการของมนุษย์ของฟรอยด์ว่าแบ่งเป็น 5 ขั้น คือ
1. ขั้นปาก (Oral Stage) อายุตั้งแต่แรกเกิด - 2 ขวบ
2. ขั้นทวารหนัก (Anal Stage) อายุ 2 - 3 ขวบ
3. ขั้นอวัยวะเพศ (Phallic Stage) อายุ 3 - 5 ขวบ
4. ขั้นแฝง (Latent Stage) อายุ 6 - 12 ขวบ
5. ขั้นวัยรุ่น (Genital Stage) อายุ 13 - 18 ขวบ
            รองศาสตราจารย์ กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์ (2528: 37 - 39) ได้กล่าวถึงการแบ่งพัฒนาการของมนุษย์ของฟรอยด์ว่าฟรอยด์ได้แบ่งพัฒนาการของมนุษย์แตกต่างจากนักจิตวิทยาท่านอื่นกล่าวคือ ฟรอยด์เชื่อว่ามนุษย์มีอวัยวะที่ไวต่อความรู้สึกในแต่ละช่วงชีวิตแตกต่างกันซึ่งฟรอยด์เรียกว่าอีโรจีนัสโซน (Erogenus zone) จึงได้แบ่งขั้นพัฒนาการตามอวัยวะที่ไวต่อความรู้สึกออกเป็น 5 ขั้น และได้กล่าวถึงแต่ละขั้นไว้ ดังนี้
     1. ขั้นปาก (Oral Stage) ขั้นนี้เด็กต้องการการตอบสนองทางปากมากที่สุดเนื่องจากปากเป็นอวัยวะที่ไวต่อความรู้สึกมากที่สุดในช่วงชีวิตนี้ความสุขความพอใจของเด็กอยู่ที่การได้รับการตอบสนองทางปาก เช่น การดูดนม การสัมผัสสิ่งแปลกใหม่ด้วยปาก ฯลฯ ถ้าเด็กได้รับการตอบสนองเต็มที่เมื่อโตขึ้นจะมีบุคลิกภาพที่เหมาะสมไม่พยายามใช้ปากมากเกินไปรู้จักพูดหรือใช้ปากได้เหมาะกับกาลเทศะ หากเด็กได้รับการขัดขวางต่อการตอบสนองทางปากในวัยนี้ เช่น การหย่านมเร็วเกินไปถูกตีเมื่อนำของเข้าปากทำให้เด็กรู้สึกกระวนกระวายและเรียกร้องที่จะชดเชยการตอบสนองทางปากนั้น เมื่อมีโอกาสเรียกว่าเกิดการหยุดยั้งพัฒนาการทางปาก (Oral Fixation) เมื่อมีโอกาสหรือโตเป็นผู้ใหญ่มักมีบุคลิกภาพที่ชอบใช้ ปาก เช่น ชอบนินทาว่าร้าย ชอบสูบบุหรี่ รับประทางอาหารบ่อย ๆ เกินความจำเป็น เป็นต้น
     2. ขั้นทวารหนัก (Anal Stage) ขั้นนี้ เด็กต้องการตอบสนองทางทวารหนักมากที่สุดมากกว่าทางปาก เช่น พัฒนาการขั้นแรกเด็กวัยนี้จึงไม่ชอบรับประทานมากเท่ากับการเล่นโดยเฉพาะการเล่นที่สัมผัสทางทวารหนักตลอดจนความสุขในการขับถ่ายซึ่งตรงกับการฝึกหัดขับถ่าย (Toilet Training) ของเด็กวัยนี้ถ้าผู้ใหญ่ที่เข้าใจจะรู้จักผ่อนปรนค่อยๆฝึกเด็กให้รู้จักขับถ่ายได้ด้วยวิธีที่นุ่มนวลการพัฒนาการขั้นนี้ก็ไม่มีปัญหาเด็กโตขึ้นจะมีบุคลิกภาพที่เหมาะสมแต่ถ้าเกิดการหยุดยั้งพัฒนาการขั้นนี้ (Anal Fixation) เนื่องจากผู้ใหญ่บังคับเด็กในการฝึกหัดขับถ่ายมากเกินไป เช่น ต้องขับถ่ายเป็นเวลาถ้าไม่ทำตามจะถูกลงโทษจะทำให้เกิดความไม่พอใจฝังแน่นเข้าไปสู่จิตไร้สำนึกโดยไม่รู้ตัวและแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นชัด 2ลักษณะที่ตรงกันข้าม คือ อาจจะมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งแล้วแต่ความเข้มทางบุคลิกภาพของเด็ก นั้นๆ คือ
ก. บุคลิกภาพแบบสมบูรณ์(Perfectionist) คือเป็นคนเจ้าระเบียบ จู้จี้ ย้ำคิดย้ำทำ กังวลมากเกินไป โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดลักษณะนี้มักเกิดกับเด็กที่มีบุคลิกภาพอ่อนแอ
ข. บุคลิกภาพแบบอันธพาล (Anti social) คือเป็นคนไม่ยอมคนชอบคัดค้านค่านิยมหรือระเบียบแบบแผนที่วางไว้ลักษณะนี้มักเกิดกับเด็กที่มีบุคลิกภาพเข้มแข็งนอกจากนี้ยังพบว่าคนที่มี Anal Fixation นี้ยังเป็นนักสะสมสิ่งของต่างๆตลอดจนมีพฤติกรรมอ่านหนังสือพิมพ์บนโถส้วมนานๆชอบนั่งที่ใดที่หนึ่งนานๆด้วย
     3. ขั้นอวัยวะเพศหรือขั้นความรู้สึกทางเพศแบบแฝง (Phallic Stage)ขั้นนี้ เด็กเริ่มเกิดความรู้สึกทางเพศแต่เป็นแบบแฝงกล่าวคือมิได้หมายความว่าเด็กวัยนี้เกิดความรู้สึกทางเพศโดยตรงได้แก่ อยากมีคู่ครองแต่หมายถึงความรู้สึกผูกพันที่เกิดขึ้นต่อบิดามารดาที่มีเพศตรงข้ามกับเด็ก เช่นเด็กหญิงรักและติดพ่อ หวงแหนพ่อแทนแม่ ฟรอยด์อธิบายว่าในขณะเดียวกันเด็กจะรู้สึกอิจฉาแม่เพราะเรียนรู้ว่าพ่อรักแม่ เกิดปมอิจฉา (Oedipus Complex) ขึ้นเห็นแม่เป็นคู่แข่งและพยายามเลียนแบบพฤติกรรมของแม่ซึ่งเป็นแบบฉบับของสตรีเพศทำให้เด็กหญิงมีลักษณะเป็นหญิงเมื่อโตขึ้น ในทำนองเดียวกันเด็กชายก็จะรักและติดแม่หวงแหนและเป็นห่วงแม่ ฟรอยด์อธิบายว่าเด็กชายจะรู้สึกอิจฉาพ่อเพราะเรียนรู้ว่าแม่รักพ่อเกิดปมอิจฉา(Oedipus Complax) พ่อ เห็นพ่อเป็นคู่แข่งพยายามเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อซึ่งเป็นแบบฉบับของบุรุษเพศทำให้เด็กชายมีลักษณะเป็นชายอย่างสมบูรณ์เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้น Oedipus Complax จึงเป็นสิ่งที่ดีเพราะจะส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการได้เหมาะสมกับเพศของเขาตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ เป็นการพัฒนาการเป็นไปตามลำดับขั้นอย่างดียิ่งแต่ถ้าเกิดการหยุดยั้งพัฒนาการของขั้นนี้ (Phallic Fixation) จะเกิดพฤติกรรมดังนี้ เด็กหญิงขณะที่เลียนแบบแม่ซึ่งเป็นแบบฉบับถ้าแม่เป็นแบบฉบับไม่ดี เด็กไม่ศรัทธาในที่สุดเด็กก็จะหันไปเลียนแบบพ่อเนื่องจากมีความนิยมศรัทธาอยู่เป็นทุนเดิมแล้วพฤติกรรมที่ปรากฏก็คือ เด็กผู้หญิงเป็นลักเพศ (Lesbian) คือมีพฤติกรรมและความรู้สึกเยี่ยงชายในทำนองเดียวกัน เด็กชายขณะที่เลียนแบบพ่อซึ่งเป็นแบบฉบับ ถ้าพ่อเป็นแบบฉบับไม่ดีเด็กไม่ศรัทธาในที่สุดเด็กก็จะหันไปเลียนแบบแม่โดยตรง เพราะรักและศรัทธาแม่เป็นทุนเดิมอยู่แล้วพฤติกรรมที่ปรากฏก็คือ เด็กชายเป็นลักเพศ(Homosexual)
     4. ขั้นแฝง (Latent Stage) เป็นระยะก่อนที่เด็กจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยรุ่น                                                      กิติกร มีทรัพย์ (2530 : 70 - 71)กล่าวถึงเด็กวัยรุ่นซ่อนเร้นหรือลาเทนซี่ (Latency) ว่า การเติบโตทางกายค่อยๆช้าลงแต่การเติบโตทางจิตใจ (Memtal awarenss) ไปเร็วมากเด็กๆมักถูกมองว่า"แสนรู้" หรือ "แก่แดด" เด็กจะรู้จักพิพากษ์วิจารณ์สนใจไปในทางค้นหาค้นคว้าต่างๆสนใจสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่มิได้ขาดเด็กบางคนอาจพูดในสิ่งที่แหลมคมที่ทำให้ผู้ใหญ่คิดและน่าทึ่งหรือพูดอะไรเชยๆนักจิตวิทยาชาวสวีเดนผู้หนึ่ง ชื่อ เดวิด บียอร์กลุนด์ เป็นศาสตราจารย์ วิชาจิตวิทยามหาวิทยาลัยฟลอริดาในอเมริกากล่าวว่า เมื่อเด็กวัย Latency มีความคิดใคร่ครวญ ผู้ใหญ่ ไม่ควรละเลย ดูด้วยที่จะให้เด็กได้คิดเรื่องหนัก ๆ บ้างตามความสนใจของเขาตั้งแต่การวางแผนงานบ้าน การบ้าน หรือสร้างวินัยในบ้านให้เขาได้มีโอกาส รับรู้หรือมีส่วนร่วมกับปัญหารายรับ - รายจ่ายในครัวเรือน ปัญหาคณิตศาสตร์ง่ายๆหรือปัญหาประสบการณ์ชีวิตบางประการซึ่งผู้ใหญ่เคยคิดว่าเขาไม่รู้หรือไม่ควรรู้
     5. ขั้นวัยรุ่น (Genital Stage) เด็กหญิงจะเริ่มสนใจเด็กชายและเด็กชายจะเริ่มสนใจเด็กหญิงเป็นระยะที่เด็กจะมีความสัมพันธ์ระหว่างเพศอย่างแท้จริงพฤติกรรมทางเพศของบุคคลในวัยนี้จึงมีลักษณะที่บ่งถึงวุฒิภาวะทางอารมณ์หรือความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างเต็มที่พัฒนาการทางเพศที่เกิดขึ้นในระยะนี้ เรียกว่า ขั้นวุฒิภาวะทางเพศอันมิได้หมายถึงอวัยวะเพศอย่างเดียวรวมถึงพฤติกรรมที่แสดงถึงวุฒิภาวะทางด้านอารมณ์และสติปัญญาเด็กชายจะเปลี่ยนจากการหลงรักแม่ตนเองไปและเด็กหญิงก็จะหันจากหลงรักพ่อไปรักเพศชายทั่วไป




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น